ฟันคุด คืออะไร ควรผ่าหรือไม่??

     ฟันแท้ของคนทั่วไปจะมีจำนวน 32 ซี่ โดยมีการขึ้นของซี่ฟัน เรียงลำดับตามช่วงอายุของเรา โดยฟันกรามซี่ในสุดของแต่ละด้านจะเป็นฟันซี่สุดท้ายที่จะขึ้นมาในช่องปาก หากคนคนนั้นมีพื้นที่ของขากรรไกรที่ไม่มากพอจะทำให้ฟันซี่สุดท้ายไม่สามารถขึ้นมาได้ในตำแหน่งที่ปกติ ส่งผลให้ฟันขึ้นได้ไม่เต็มซี่ หรือขึ้นในลักษณะที่เอียงชนกับฟันกรามซี่ด้านหน้า ซึ่งฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ไม่เต็มซี่นั้น เรียกได้ว่า ฟันคุด

อันตรายที่เกิดจากฟันคุด

  1. ฟันซี่ข้างเคียงผุ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยจะเข้าพบทันตแพทย์จากการปวดฟัน ซึ่งเกิดจากฟันผุทะลุโพรงประสาท สาเหตุที่แท้จริงนั้น ฟันคุดสามารถขึ้นได้เพียงบางส่วน ทำให้การเรียงตัวของฟันซี่นี้กับซี่ข้างเคียงไม่ตรงกัน ส่งผลให้เกิดเศษอาหารติดระหว่างสองซี่ได้ง่าย และทำความสะอาดได้ยาก จึงเป็นผลให้ฟันกรามซี่ข้างเคียงผุสะสมเป็นเวลานานจนทะลุโพรงประสาท การรักษาจึงมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นโดยต้องผ่าฟันคุดและรักษารากฟันซี่ข้างเคียง ในบางครั้งฟันซี่ข้างเคียงก็ไม่สามารถรักษารากได้ จึงทำให้ต้องสูญเสียซี่ฟันกรามที่จำเป็นในกรณีนี้อีกด้วย
  2. เหงือกอักเสบ เนื่องจากเศษอาหารติดบริเวณนี้เป็นเวลานาน ทำให้เหงือกมีอาการอักเสบ บวมแดง ติดเชื้อ ซึ่งหากปล่อยทิ้งเป็นเวลานาน หนองและเชื้อโรค สามารถทะลุผ่านโพรงในขากรรไกร และทำให้กระดูกโดยรอบติดเชื้อ จนลุกลามไปถึงการหายใจลำบาก จนสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

     3. โรคปริทันต์เฉพาะตำแหน่ง เกิดจากตำแหน่งของฟันคุดที่ชนกับฟันข้างเคียง และมีแรงดันที่กระดูกหุ้มรากฟัน ทำให้กระดูกในบริเวณนั้นละลายมากกว่าปกติ ส่งผลให้ฟันโยกและเหงือกร่นได้แม้จะผ่าฟันคุดออกไปแล้ว

     4. ทำให้ฟันซี่อื่นซ้อนเก ฟันที่ขึ้นไม่ได้ ทำให้ชนกับฟันซี่ข้างเคียง เกิดแรงดันต่อฟันซี่อื่นๆจนถึงฟันซี่หน้า ทำให้ฟันด้านหน้ามีความซ้อนเกได้มากขึ้น ส่งผลต่อการทำความสะอาดโดยทั่วไปของช่องปาก

     5. ถุงน้ำหรือเนื้องอกรอบๆฟันคุด ฟันทุกซี่ที่ยังไม่ขึ้นมาในช่องปากจะมีถุงหุ้มรอบตัวฟัน ซึ่งหากทิ้งไว้จนเกิดช่วงอายุที่ฟันซี่นั้นๆจะขึ้นมาในช่องปาก ถุงหุ้มรอบตัวฟันอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกในขากรรไกรได้ ส่งผลให้ฟันซี่อื่นเคลื่อนผิดตำแหน่งเดิม หรือกระดูกโดยรอบถูกกร่อนละลาย และไม่สามารถสร้างกระดูกทดแทนได้ภายหลังจากการตัดถุงน้ำออกแล้ว จนเป็นผลให้มีความเสี่ยงต่อการแตกหักของขากรรไกรได้จากกระดูกที่เหลือน้อยกว่าปกติ ในบางกรณีถุงน้ำหรือเนื้องอกสามารถขยายใหญ่จนใบหน้าผิดรูปได้อีกด้วย

ควรผ่าฟันคุดเมื่อไหร่

     ในช่วงอายุ 18-25 ปี เป็นเวลาที่เหมาะสมในการตรวจประเมินร่วมกับฟิลม์เอกซเรย์ ว่ามีแนวโน้มการขึ้นของซี่ฟันอย่างไร นอกจากนี้ยังเป็นเวลาที่เหมาะสมในการนำฟันคุดออก เนื่องจากรากฟันคุดยังสร้างไม่สมบูรณ์ ทำให้รากฟันยังไม่เข้าใกล้กับเส้นประสาทในขากรรไกรล่า จะสามารถทำหัตถการได้ง่ายกว่า ฟื้นตัวเร็ว แผลหายเร็ว และเกิดอาการแทรกซ้อนจากการผ่าฟันคุดได้น้อย

อาการแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นหลังผ่าฟันคุด

  1. การติดเชื้อหลังผ่า ผู้ป่วยจะมีอาการบวมและปวดมาก หรือมีหนองเกิดขึ้น สาเหตุเกิดจากมีลักษณะแผลที่ใหญ่ หรือการดูแลรักษาความสะอาดของแผลผ่าตัดไม่เพียงพอ
  2. กระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Dry socket) พบได้บ่อยภายหลังถอนฟัน โดยเฉพาะการผ่าฟันคุดซี่ล่าง มักเกิดภายหลังการถอนฟัน 3-4 วัน เกิดจากลิ่มเลือดที่อยู่ในเบ้าฟันที่ถูกถอนไปหลุดหายทั้งหมด จากการแคะ สะกิดแผล หรือบ้วนเลือดแรงๆ ส่งผลให้ผิวกระดูกไม่มีอะไรปกคลุม จนมีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง อาจปวดร้าวถึงบริเวณศีรษะได้ แผลจะมีกลิ่นเหม็นและรับรู้ถึงรสชาติที่ผิดปกติ สามารถรักษาได้โดยเข้าพบทันตแพทย์ จะได้รับยาใส่เข้าไปในเบ้าฟัน โดยที่ต้องเข้าเปลี่ยนยาเป็นประจำที่คลินิกทันตกรรม ประมาณ 5-7 วัน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการปวด
  3. เลือดออกนานกว่าปกติ มักเกิดจากการกัดผ้าที่ห้ามเลือดเป็นเวลาไม่มากพอ ร่วมกับการบ้วนเลือดออกมา แต่อย่างไรก็ตามยังมีสาเหตุอื่นๆอีกหลายสาเหตุ เบื้องต้นให้ผู้ป่วยกัดผ้าที่ห้ามเลือดเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที กลืนน้ำลาย ไม่ออกแรงบ้วน 24 ชั่วโมง หากเลือดยังไม่หยุดไหล แนะนำให้เข้าพบทันตแพทย์
  4. ชาบริเวณริมฝีปากและคาง ภายหลังยาชาหมดฤทธิ์ มักเกิดจากตำแหน่งฟันคุดอยู่ใกล้เคียงกับเส้นประสาทในขากรรไกรล่าง ซึ่งทันตแพทย์เฉพาะทางจะทำการประเมินและแจ้งถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชาในบางกรณีกับผู้ป่วยก่อนทำการผ่าฟันคุดเรียบร้อยแล้ว แนะนำให้เข้าพบทันตแพทย์เฉพาะทางผู้ทำหัตถการเพื่อติดตามผลต่อไป
Scroll to Top