ฟันล่างคร่อมฟันบน รักษาได้
พบว่าในกลุ่มคนเอเชียมีกลุ่มที่มีการสบฟันในลักษณะฟันล่างคร่อมฟันบนถึง ร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เกิดจากอัตราการเจริญของขากรรไกรบนน้อยกว่าปกติ ในขณะที่กลุ่มคนชาวยุโรปมีการสบฟันในลักษณะฟันล่างคร่อมฟันบนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ดังนั้นจึงพบว่าคนไทยส่วนหนึ่งมีปัญหาเรื่องฟันล่างคร่อมฟันบน
สาเหตุการเกิดฟันล่างคร่อมฟันบน
สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่คือ
- เกิดจากการเจริญของขากรรไกรผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดขากรรไกรล่างใหญ่เกินไป (Mandibular excess) และขากรรไกรบนเล็กเกินไป (Maxillary deficiency) ซึ่งมักมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมที่ส่งต่อมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าหรือพ่อแม่ ซึ่งตำแหน่งฟันมักมีฟันบนที่ยื่นและฟันล่างล้มลงไปหาฟันบน โดยความผิดปกตินี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร
- เกิดจากการขึ้นของฟันผิดปกติ ซึ่งมาจากการซ้อนเกของซี่ฟัน หรือระหว่างการขึ้นของฟันมีสิ่งขัดขวางให้ขึ้นผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นฟันผุ หรือฟันเกิน ทำให้ลำดับการขึ้นของฟันผิดปกติ ส่งผลต่อการสบฟันได้ นอกจากนี้หากเกิดฟันล่างคร่อมฟันบนในเด็กที่กำลังมีการเจริญของขากรรไกร ฟันล่างที่คร่อมฟันบนจะเบียดบังให้ขากรรไกรบนไม่สามารถเจริญเป็นปกติได้ ส่งผลให้การเจริญของขากรรไกรบนลดลงอีกด้วย
การรักษาฟันล่างคร่อมฟันบน
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติฟันล่างคร่อมฟันบน มักมีปัญหาเรื่องใบหน้าที่มีคางยื่นมากเกินไป หรือส่วนกลางของใบหน้าเล็กเกินไป (รูปหน้าคล้ายมะม่วง) ซึ่งสามารถผิดปกติได้มากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปหน้า และมีตำแหน่งฟันที่ผิดปกติไม่มากนัก คุณหมอสามารถแก้ไขได้ด้วยการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันเพียงอย่างเดียว
การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันเพียงอย่างเดียว สามารถรักษาฟันล่างคร่อมฟันบนได้ แต่จะทำให้ฟันบนมีตำแหน่งที่ยื่นมากขึ้นได้ เพื่อให้สามารถสบกับฟันล่างที่อยู่ในตำแหน่งยื่นอยู่เดิม ทั้งนี้การรักษาด้วยการจัดฟันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขรูปหน้าได้ และมีโอกาสที่ต้องใช้เครื่องมือเพิ่มเติมในการช่วยให้กลับมามีการสบฟันที่ปกติอีกครั้ง เช่น หมุดจัดฟัน เพลทเพื่อยกการสบฟัน เป็นต้น
โดยแผนการรักษาทั้งหมดคุณหมอจากอัลปาก้าสามารถแนะนำและกล่าวถึงรายละเอียดในการรักษาได้ตั้งแต่เริ่มวางแผนการจัดฟัน ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับคำแนะนำอย่างเต็มที่
ทางกลับกัน หากผู้ป่วยมีความต้องการปรับเปลี่ยนรูปหน้า หรือมีการสบฟันที่ผิดปกติมาก จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร โดยจะต้องได้รับการวางแผนร่วมกันระหว่างทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน และทันตแพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ เผื่อแก้ไขขากรรไกรที่ผิดปกติในระยะยาว ซึ่งการผ่าตัดขากรรไกรมีทั้งแผนผ่าตัดเพียงขากรรไกรเดียว (ขากรรไกรล่าง) หรือสองขากรรไกร (ขากรรไกรบนและล่าง) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของขากรรไกรในผู้ป่วยนั้นๆ
การจัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกร
การจัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกรคือ การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันพร้อมกับผ่าตัดขากรรไกร เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปหน้าและการสบฟัน เป็นการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของขากรรไกรมาก ยกตัวอย่างเช่น ขากรรไกรล่างยื่นผิดปกติ (Prognathic mandible) ขากรรไกรล่างเล็กเกินไป (Retrognathic mandible) ขากรรไกรบนยื่นผิดปกติ (Prognathic maxilla) ขากรรไกรบนเล็กเกินไป (Retrognathic maxilla) รวมไปถึงการสบฟันที่ผิดปกติมาก ดังเช่น การสบเปิดของฟันหน้า ฟันหลัง ที่ผิดปกติมากกว่าที่จะสามารถทำการรรักษาทางทันตกรรมจัดฟันได้เพียงอย่างเดียว
การผ่าตัด VS ไม่ผ่าตัดขากรรไกร
สามารถพิจารณาได้ดังนี้
- ชอบรูปหน้าตัวเองหรือไม่ การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนรูปหน้าได้ ทั้งในแง่ความเบี้ยวของคางและความยื่นของคาง ดังนั้นต้องพิจารณาเป็นอย่างแรกว่า อยากเปลี่ยนรูปหน้าหรือไม่
- มุมของฟันหน้าบนและล่าง กรณีมุมและการสบฟันหน้าบนและล่าง ไม่ล้มหรือยื่นมากเกินไป สามารถทำการรักษาด้วยการจัดฟันเพียงอย่างเดียวได้ แต่เป็นการรักษาที่ปรับให้ฟันสามารถสบได้โดยไม่สามารถแก้ไขที่สาเหตุของความผิดปกติของฟันที่แท้จริง ดังนั้นมุมฟันหน้าอาจจะมีลักษณะฟันหน้าบนยื่น และฟันหน้าล่างเอียงหลุบ หลังจากได้รับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันเสร็จ
- การสบฟัน หากสามารถใช้ฟันหน้าล่างกัดกับฟันหน้าบนได้ แม้ฟันหลังจะไม่สามารถสบได้ดี แต่ก็นับได้ว่ามีโอกาสสูงที่สามารถจัดฟันเพียงอย่างเดียวได้
ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละคนมีเงื่อนไข และความผิดปกติของการสบฟันไม่เหมือนกัน คุณหมอเฉพาะทางจัดฟัน จะต้องพิจารณาส่วนอื่นๆเพิ่มเจิม และช่วยผู้ป่วยเลือกแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
ขั้นตอนการรักษาด้วยการจัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกร
- เข้าปรึกษาทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน การจัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกรเป็นทางเลือกที่ไม่สามารถย้อนกลับเป็นการจัดฟันเพียงอย่างเดียวได้ เนื่องจากต้องปรับตำแหน่งฟันเพื่อพร้อมที่จะผ่าตัดขากรรไกร
- วางแผนร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน และทันตแพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์
- เริ่มจัดฟันเพื่อจัดเรียงตำแหน่งฟันให้ถูกต้องในแต่ละขากรรไกร ซึ่งอาจจะทำให้ใบหน้าดูแย่ลงในช่วงแรก
- ทำการผ่าตัดขากรรไกร ในห้องผ่าตัดโรงพยาบาล กับทันตแพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ การผ่าตัดขากรรไกร เป็นผ่าตัดด้วยยาสลบ และจะพักในโรงพยาบาล 3-7 วัน
- จัดฟันต่อด้วยเครื่องมือเดิม เพื่อจัดเรียงฟันในส่วนของรายละเอียดให้มีการสบฟันที่ดีที่สุด ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
ความเสี่ยงของการผ่าตัดขากรรไกร
- ชาบริเวณริมฝีปาก เกิดจากตำแหน่งผ่าตัดขากรรไกรเข้าใกล้เส้นประสาทมาก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการเพียงระยะเวลาหนึ่ง (ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย และตำแหน่งของการผ่าตัด) ทั้งนี้สามารถรับประทานวิตามินบี สามารถกระตุ้นการฟื้นตัวของเส้นประสาทได้
- เกิดการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด เนื่องจากการหายของแผล และการดูแลการรักษาของผู้ป่วยมีความแตกต่างกัน จึงความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ และการดูแลแผลผ่าตัดให้สะอาดอยู่เสมอ
- กระดูกขากรรไกรเข้าสู่ตำแหน่งก่อนผ่าตัดในบางส่วน (Relapse) เกิดจากการปรับตัวของกล้ามเนื้อ ดังนั้นทันตแพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ จึงวางแผนผ่าตัดให้มากกว่าเล็กน้อย
- แผ่นดามกระดูกและหมุดที่ยึดกระดูกขากรรไกร อาจจะทำให้เกิดอาการติดเชื้อภายหลังได้ จึงการแนะนำให้เอาแผ่นดามกระดูกและหมุดออกหลังจากกระดูกขากรรไกรมีการเชื่อมต่อกันแล้ว (ประมาณ 1 ปีหลังจากการผ่าตัดขากรรไกร)
- มีความเสี่ยงต่อการตายของเนื้อเยื่อ จากการสูญเสียเลือดที่มาหล่อเลี้ยงฟันส่งผลให้เกิดฟันตายได้ ต้องทำการรักษาคลองรากฟันต่อไป
การรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน เป็นการรักษาที่ใช้เวลานาน และใช้องค์ความรู้ต่างๆมารักษาในแต่ละเคส เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีสภาพ ตำแหน่งและการเคลื่อนฟันไม่เหมือนกัน การรักษาจึงต้องใช้ความรู้ ความใส่ใจในการรักษามากเป็นพิเศษ ซึ่งคุณหมอจากอัลปาก้าเป็นคุณหมอที่จบเฉพาะทางจัดฟัน โดยผ่านการรับรองจากทันตแพทยสภา และสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย (Thai Association of Orthodontists) สามารถตรวจสอบรายชื่อได้จาก www.thaiortho.org เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาและมั่นใจได้ว่า รอยยิ้มของทุกคนเมื่อจัดฟันสิ้นสุด จะมีรอยยิ้มที่สวยงาม มั่นใจ ต่อไป
มั่นใจ จัดฟันที่คลินิกทันตกรรมอัลปาก้า จัดฟันด้วยทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน
“ตัวจริง”
พวกเราอยากให้ทุกคนมีการสบฟันที่ดี และมีรอยยิ้มอย่างมั่นใจ