เคล็ดลับดูแลสุขภาพช่องปาก
เจ้าตัวเล็ก

โดยคุณหมอเฉพาะทางฟันเด็ก

       การดูแลสุขภาพช่องปากเด็กๆตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของการมีฟันแท้ที่สุขภาพดี สวยงามต่อไปจนถึงตอนโตและตลอดชีวิตของเด็กๆ และเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กที่มีฟันน้ำนมผุมากมายจะมีสุขภาพร่างกายและการเจริญเติบโตไปอย่างปกติ และการมีฟันน้ำนมผุย่อมบ่งบอกว่าอนาคตฟันแท้จะมีโอกาสผุได้มากกว่าเด็กที่ไม่เคยมีฟันน้ำนมผุหลายเท่าตัว นอกจากนี้สุขภาพช่องปากที่ดียังเป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งของการมีสุขภาพร่างกายที่ดี เพราะหากฟันน้ำนมผุมากจนทำให้บดเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด ทานอาหารได้น้อย หรือทานอาหารได้ไม่หลากหลาย ไม่สามารถเคี้ยวเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ได้ ย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กๆ

       หากคุณพ่อคุณแม่มีเป้าหมายในการดูแลฟันของลูกๆ ให้มีฟันแท้ที่สวยงามสุขภาพดีไม่มีผุตลอดชีวิต สิ่งที่สำคัญมากที่สุดเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ คือจะต้องเริ่มต้นดูแลกันตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกค่ะ จากประสบการณ์หมอแล้วเป้าหมายการมีฟันแท้แข็งแรง ปราศจากฟันผุนั้นไม่ได้ไกลเกินเอื้อม แตกต่างจากสมัยก่อนมากเลยค่ะ   และเราได้สรุปเคล็ดลับการดูแลสุขภาพฟันสำหรับพ่อแม่อย่างง่าย เพื่อให้แน่ใจว่ารอยยิ้มของลูกๆ จะคงสวยสดใส และสุขภาพดีค่า

เริ่มพบหมอฟันเด็กตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรก

      การเดินทางของลูกรักสู่การไม่มีฟันผุ เริ่มต้นตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรก ผู้ปกครองควรพาลูกๆไปพบคุณหมอฟันเด็กครั้งแรกตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น หรือไม่เกิน 1 ขวบ หรืออย่างน้อยที่สุดคือไม่เกิน 6 เดือนภายหลังจากฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น

      คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่า ฟันน้ำนมแค่ซี่แรกขึ้นมา คุณหมอจะตรวจอะไร จะต้องทำอะไรด้วยหรอ? ที่คุณหมอแนะนำให้รีบมาตรวจฟันตั้งแต่ฟันน้ำนมเพิ่งเริ่มขึ้นเลยเพราะต้องการพูดคุยเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากและสอบถามถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดฟันผุ เพื่อที่จะสามารถป้องกันก่อนที่จะเกิดฟันผุค่ะ เพราะจากการสำรวจพบว่าเด็กไทยสามารถพบฟันผุได้ตั้งแต่อายุ 9 เดือนเลยนะคะ เรียกได้ว่า ฟันขึ้นมาไม่กี่เดือนก็ผุเสียแล้ว และสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้พบฟันผุได้เร็วขนาดนี้มักจะมาจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น ให้เด็กทานน้ำหวาน ติดนมขวด รวมถึงการแปรงฟันไม่สะอาด และไม่ได้ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เป็นต้น

      หัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพฟันเด็กคือ การป้องกันฟันผุ (caries prevention) และการตรวจโรคฟันผุให้พบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม (early detection) ซึ่งต้องอาศัยการตรวจฟันเป็นประจำทุก 3-6 เดือน ขึ้นกับความเสี่ยงในการเกิดฟันผุของเด็กแต่ละคน  รอยผุระยะเริ่มต้นนี้สามารถหยุดหรือลดการลุกลามได้ด้วยใช้ฟลูออไรด์ชนิดต่างๆ ร่วมกับการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดฟันผุ เช่นลดขนมและเครื่องดื่มรสหวาน เลิกนมจากขวด เป็นต้น  หากพบผุเป็นรูแล้วรักษาตั้งแต่ยังเป็นฟันผุขนาดเล็กๆ ก็จะใช้เวลาไม่นานในการอุด แต่ถ้าอุดฟันที่รูผุใหญ่แล้วการรักษาจะซับซ้อนมากขึ้นและอาจจำเป็นต้องฉีดยาชาร่วมด้วย ที่สำคัญคือฟันผุแรกเริ่มในเด็กเล็กๆบางครั้งจะอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ปกครองมองไม่เห็น เช่นด้านในของฟันหน้าบน หรือเป็นเพียงเงาดำๆที่ไม่มีรูผุเท่านั้น หากปล่อยไว้จนถึงระยะลุกลามคือเห็นฟันผุเป็นรูได้อย่างชัดเจน มักจะต้องทำการรักษาที่ยุ่งยากมากกว่าการอุดฟัน อาจจำเป็นต้องรักษารากฟัน ครอบฟัน หรือถอนฟัน ซึ่งคงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้เกิดขึ้น

การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างมีประสิทธิภาพ

     คุณพ่อคุณแม่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพช่องปากของลูกแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย การแปรงฟันให้สะอาดจำเป็นต้องมีกล้ามเนื้อมือมัดเล็กที่แข็งแรง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กเล็กจะสามารถแปรงฟันให้ได้สะอาด จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ในการช่วยแปรงฟันทำความสะอาดช่องปากให้กับลูก อาจจะดูง่ายๆว่าลูกสามารถผู้เชือกเป็นโบว์ได้หรือยัง ถ้าลูกสามารถทำได้แปลว่ามีการประสานงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แข็งแรงพอจะแปรงฟันให้สะอาดได้ด้วยตนเอง แต่ว่าถ้ายังทำไม่ได้หรือทำได้ไม่คล่อง จะดีกว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเหลือและแปรงฟันให้ลูกให้สะอาด รวมถึงช่วยใช้ไหมขัดฟันให้ลูกๆ

  1. เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ผู้ปกครองเป็นผู้แปรงให้และเช็ดฟองออก โดยบีบยาสีฟันพอเปียกหรือเท่ากับเมล็ดข้าวสาร
  2. เด็กอายุ 3-6 ปี ผู้ปกครองบีบยาสีฟันให้ ปริมาณเท่าเมล็ดถั่วลันเตา หรือเมล็ดข้าวโพด และช่วยแปรงฟันให้สะอาด หัดให้ลูกบ้วนน้ำลาย บ้วนฟองออก ระหว่างแปรงฟันและหลังแปรงฟัน โดยไม่ต้องบ้วนน้ำล้างซ้ำ หรือบ้วนน้ำเพียงครั้งเดียวในปริมาณน้ำอุ้งมือเดียว (5-10 มล.) 
  3. เด็กอายุมากกว่า 6 ปี ให้เด็กบีบยาสีฟันยาวเต็มแปรง ผู้ปกครองคอยสอนให้หลังแปรงฟันบ้วนน้ำลาย บ้วนฟองยาสีฟันออก หรืออาจจะบ้วนน้ำเพียงครั้งเดียวในปริมาณน้ำอุ้งมือเดียว

      นอกจากนี้ผู้ปกครองควรปลูกฝังให้เด็กมีวินัย รู้จักการดูแลความสะอาดร่างกายและช่องปาก แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน และใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง สิ่งที่สำคัญมากคือ ฟันจะต้องสะอาดก่อนเข้านอน หากแปรงฟันไปแล้ว กินนม กินอาหารอื่นๆนอกจากน้ำเปล่า ต้องให้เด็กๆกลับไปแปรงฟัน ไม่ให้เหลือเศษอาหารค้างไว้ข้ามคืนนะคะ

เลือกของว่างที่ดีต่อสุขภาพ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์

      คุณพ่อคุณแม่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพช่องปากของลูกแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย การแปรงฟันให้สะอาดจำเป็นต้องมีกล้ามเนื้อมือมัดเล็กที่แข็งแรง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กเล็กจะสามารถแปรงฟันให้ได้สะอาด จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ในการช่วยแปรงฟันทำความสะอาดช่องปากให้กับลูก อาจจะดูง่ายๆว่าลูกสามารถผู้เชือกเป็นโบว์ได้หรือยัง ถ้าลูกสามารถทำได้แปลว่ามีการประสานงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แข็งแรงพอจะแปรงฟันให้สะอาดได้ด้วยตนเอง แต่ว่าถ้ายังทำไม่ได้หรือทำได้ไม่คล่อง จะดีกว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเหลือและแปรงฟันให้ลูกให้สะอาด รวมถึงช่วยใช้ไหมขัดฟันให้ลูกๆ

  • เลือกของว่างที่ดีต่อสุขภาพ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ น้ำอัดลมและน้ำหวาน สำหรับเมืองไทยร้อนทั้งปี เด็กๆอาจจะชื่นชอบการดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำหวานเย็นๆเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ควรดื่มบ่อยจนเกินไป เพราะน้ำตาลที่อยู่ในน้ำหวานและน้ำอัดลมจะทำให้เกิดคราบจุลินทรีย์ (คราบพลัค) ได้ง่าย คราบจุลินทรีย์ที่สะสมเป็นเวลานานจะมีสีเหลือกและทำให้เกิดฟันผุได้โดยง่าย อีกทั้งกรดคาร์บอนิก (Carbonic acid) ที่อยู่น้ำอัดลม ยังมีฤทธิ์กัดกร่อนผิวเคลือบฟัน และเป็นต้นเหตุทำให้ฟันสึกกร่อนได้มากที่สุด
  • ผลไม้รสเปรี้ยวจัด เช่น มะยม มะนาว มะม่วง มะขาม สับปะรด แอปเปิลเขียว มะเฟือง หรือตะลิงปลิง จะมีค่าความเป็นกรดค่อนข้างสูง เมื่อเรารับประทานเข้าไปแล้ว กรดที่อยู่ผลไม้จะทำให้เกิดความระคายเคืองที่เนื้อเยื่อในช่องปาก และกัดกร่อนชั้นผิวเคลือบฟันที่คอยปกป้องเนื้อฟันอยู่ หากรับประทานบ่อย ๆ เป็นประจำทุกวัน จะทำให้ผิวเคลือบฟันค่อย ๆ บางลง จนทำให้เกิดอาการเสียวฟัน และฟันผุได้ง่ายกว่าปกติ
  • ไอศกรีมและขนมหวาน ที่เด็กๆทานเข้าไป แบคทีเรียในช่องปากก็จะนำน้ำตาลเหล่านี้ไปผลิตกรด ทำให้เกิดการกัดกร่อนฟัน และทำลายเนื้อฟันจนเกิดฟันผุในเวลาต่อมา ในช่วงเวลาที่เด็กทานขนม 1 ครั้ง จะเกิดกรดยาวนานถึง 30-40 นาที ซึ่งถ้ากระบวนการเกิดกรดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นถี่ๆ ร่างกายก็สามารถซ่อมแซมได้ หากแต่เด็กน้อยกินขนม น้ำหวาน กินจุบจิบ กินทั้งวัน มากกว่าวันละ 2 ครั้ง ร่างกายก็จะซ่อมแซมรอยผุไม่ทัน นานเข้าก็เกิดเป็นฟันผุเป็นรูขึ้นมา ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการกินขนมหวาน น้ำหวาน นอกมื้ออาหารหลัก ไม่กินขนม จุบจิบเกินวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะ ลูกอมต่างๆ เยลลี่เคี้ยวหนึบ นมหวาน นมเปรี้ยว คุกกี้หวานๆ มันฝรั่งทอด ควรหลีกเลี่ยงนะคะ

อย่างไรก็ตามก็ยังมีอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพช่องปากอยู่ด้วยเหมือนกันนะคะ

  • ผลไม้และผักที่มีเส้นใย จะช่วยให้ฟันและเหงือกสะอาด และยังช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลาย ซึ่งเป็นการป้องกันธรรมชาติที่ดีที่สุดต่อโรคฟันผุและโรคเหงือก
  • ชีส นม โยเกิร์ตรสธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ชีสเป็นตัวกระตุ้นการผลิตน้ำลาย แคลเซียมและฟอสเฟตในนมและผลิตภัณฑ์นมช่วยให้ฟันได้รับแร่ธาตุที่อาจสูญเสียไปจากอาหารอื่น ๆ และยังช่วยซ่อมแซมเคลือบฟันที่ละลายออกไปในช่วงที่เกิดกรด
  • ชาเขียว มีสารโพลีฟีนอลที่ทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียในคราบฟัน สารเหล่านี้ช่วยฆ่าหรือยับยั้งแบคทีเรีย ป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเติบโตหรือสร้างกรดที่ทำลายฟัน
  • หมากฝรั่งไม่มีน้ำตาล เป็นตัวกระตุ้นการผลิตน้ำลาย ช่วยชะล้างกำจัดเศษอาหารออกจากช่องปาก และทำให้มีการหลั่งของแคลเซี่ยมในน้ำลายออกมามากขึ้น และในบางยี่ห้อมีการเติมสารแคลเซี่ยมฟอสเฟต ก็จะเป็นตัวช่วยอย่างดีในการซ่อมแซมเคลือบฟัน

การทำเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ

     การทำเคลือบหลุมร่องฟัน หรือการทำซีแลนท์ เป็นวิธีการป้องกันฟันผุบริกเวณด้านบดเคี้ยวที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดฟันผุในฟันแท้ได้มากที่สุด และฟันกรามแท้ซี่แรกของเด็กๆนั้นจะขึ้นตอนอายุประมาณ 6 ขวบ ซึ่งฟันกรามแท้ชุดนี่ขึ้นชื่อว่าเป็นฟันแท้ที่พบว่าผุได้มากที่สุด จึงสำคัญอย่างมากที่เด็กอายุประมาณ 6 ขวบจะได้รับการตรวจประเมินฟันกรามแท้ซี่แรกนี่และทำการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันการเกิดฟันผุ เคลือบหลุมร่องฟันเมื่อเวลาผ่านไปอาจจะมีการหลุดไปบ้างบางส่วน จึงต้องมาตรวจติดตาม การยึดติดอยู่ของเคลือบหลุมร่องฟันตามนัดตรวจฟันเป็นประจำ หากตรวจพบเคลือบหลุมร่องฟันที่ไม่สมบูรณ์และฟันยังมีลักษณะหลุมฟันลึก หรือยังมีคราบจุลินทรีย์ตามหลุมฟัน ทันตแพทย์อาจพิจารณาทำเคลือบหลุมร่องฟันใหม่ โดยปกติแล้วเคลือบหลุมร่องฟันอาจหลุดออกได้บ้างประมาณ ปีละ 5%  โดยปัจจัยที่ทำให้เคลือบหลุมร่องฟันหลุดออกได้ง่ายขึ้นเช่น การแปรงฟันไม่สะอาด การเคี้ยวของแข็งบ่อยๆ เป็นต้น

ฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุได้จริง

    สำหรับบริเวณหลุมฟันด้านบดเคี้ยว สิ่งที่ดีที่สุดที่ช่วยป้องกันฟันผุได้คือ การทำเคลือบหลุมร่องฟัน แต่ถ้าเป็นผิวฟันด้านอื่นๆ ฟลูออไรด์คือฮีโร่ที่ป้องกันฟันผุได้ ฟลูออไรด์ช่วยทำให้ผิวฟันแข็งแรงทนกรด ป้องกันผิวฟันกร่อน ซ่อมแซมฟันผุในระยะเริ่มต้น และรบกวนกระบวนการก่อให้เกิดฟันผุของเชื้อโรค  สำหรับฟลูออไรด์ที่ทันตแพทย์ใช้ให้เด็กๆ มี 2 ชนิด คือ ฟลูออไรด์วานิช  สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้ร้อยละ 43 ในฟันแท้ และ ร้อยละ 37 ในฟันน้ำนม การใช้ฟลูออไรด์วานิชทำโดยทันตแพทย์จะทาฟลูออไรด์วานิชตามปริมาณที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน และอีกชนิดคือ ฟลูออไรด์เจล สามารถช่วยป้องกันฟันผุในฟันแท้ได้ร้อยละ 28 และ ร้อยละ 20 ในฟันน้ำนม การใช้ฟลูออไรด์เจลทำได้โดยการอมถาดที่บรรจุปริมาณฟลูออไรด์ที่เหมาะสมเป็นระยะเวลา 4 นาที การใช้ฟลูออไรด์เจลนั้นไม่ควรใช้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ซึ่งอาจจะควบคุมการกลืนได้ไม่ดี อาจเผลอกลืนฟลูออไรด์เจลได้

Scroll to Top