หินปูน ปล่อยไว้
อันตรายกว่าที่คิด

      “แนะนำให้พบทันตแพทย์ เพื่อตรวจฟัน ขูดหินปูนทุก 6 เดือนนะคะ” เป็นคำแนะนำที่เราอาจจะเคยได้ยินกันบ่อยๆไม่ว่าจะปากของทันตแพทย์เองหรือตามสื่อโฆษณาต่างๆ แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงมองว่าการขูดหินปูน เป็นเรื่องน่ากลัว เป็นเรื่องเล็กน้อยที่อาจจะละเลยหรือมองข้ามไป ไม่ว่าจะเหตุผลไม่มีเวลา กลัวเจ็บ หรือเคยขูดแล้วเสียวฟันหรือฟันห่าง วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจ และแก้ไขคลายความกังวลในเรื่องของหินปูนทั้งหมดกันค่ะ

หินปูนหรือหินน้ำลาย

      โดยปกติในช่องปากของเราจะมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีเศษอาหารหรือโปรตีนตกค้างสะสม แบคทีเรียจะเกิดการรวมตัวกับเศษอาหารเหล่านั้นจนกลายเป็นแผ่นคราบจุลินทรีย์ (Plaque) ที่เกาะอยู่ตามขอบเหงือกและซอกฟัน ซึ่งคราบจุลินทรีย์จะมีลักษณะนิ่มและสามารถกำจัดออกได้โดยการแปรงฟัน แต่ถ้าเราไม่สามารถกำจัดออกไปได้หมดจะเกิดการรวมกับแร่ธาตุจากน้ำลาย กลายเป็นแผ่นแข็ง ที่เราเรียกว่าหินปูนหรือหินน้ำลายนั่นเอง เพราะแบบนี้หินปูนจึงถือเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อโรคชั้นดี ที่เราไม่ควรปล่อยไว้ในช่องปากนานๆ

หินปูนสามารถแบ่งตามตำแหน่งที่อยู่ได้ 2 ประเภท คือ

  1. หินปูนเหนือเหงือก : สะสมอยู่บริเวณขอบเหงือกขึ้นมาถึงปลายฟัน สามารถมองเห็นได้ในช่องปาก ส่วนใหญ่จะมีสีขาวเหลือง แต่ก็สามารถเข้มขึ้นได้จากการดูดสีของอาหาร ยา บุหรี่
  2. หินปูนใต้เหงือก : สะสมอยู่ใต้ขอบเหงือกลงไป เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถมองเห็นได้ในช่องปาก แข็งและเหนียว สีดำหรือน้ำตาลเข้ม ต้องอาศัยการขูดด้วยเครื่องมือและความชำนาญของทันตแพทย์

ผลเสียจากการปล่อยหินปูนสะสม

  • เหงือกบวม เหงือกอักเสบ เกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียสร้างกรดมาทำลายเนื้อเยื่อและกระดูกรอบๆฟัน เหงือกจะเริ่มมีการอักเสบและบวมแดงช้ำ แปรงฟันมีเลือดออก ฟันจะเริ่มโยก เพราะส่วนที่รองรับฟันโดนทำลาย นำไปสู่การเป็นโรคปริทันต์อักเสบหรือโรครำมะนาด สุดท้ายฟันไม่สามารถอยู่ในช่องปากได้ ก็จะหลุดเองหรือต้องมาถอนออกเพราะเคี้ยวแล้วเจ็บหรือรำคาญ และเมื่อเกิดการสูญเสียฟันไปแล้ว ก็ต้องมีการรักษาเพิ่มเติม คือ ฟันปลอม หรือ รากเทียม เพื่อทดแทนนั่นเอง
  • ฟันผุ กรดที่แบคทีเรียสร้างขึ้นมานอกจากจะทำลายเนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกรอบๆฟันแล้ว ที่ผิวเคลือบฟันก็ยังโดนกัดกร่อนให้เกิดร่องหรือรูได้อีกด้วย ถ้าหากปล่อยไว้นานๆ ไม่รีบมาอุดฟัน จนฟันผุลุกลามเข้าไปในโพรงประสาทฟัน ก็จะนำไปสู่การรักษาแบบอื่น คือการรักษารากฟันหรือถอนออกในที่สุด
  • กลิ่นปาก และฟันดูเหลือง ทั้ง 2 อย่างนี้ เกิดจากการปล่อยให้หินปูนสะสมมาเป็นเวลานาน เกิดการดูดสีและกลิ่นจากอาหารการกิน การทำความสะอาดที่ไม่ดีพอ ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ส่งผลต่อบุคลิกภาพ สูญเสียความมั่นใจขณะยิ้มและพูดคุย

ภาพก่อน-หลังการขูดหินปูน

ก่อนขูดหินปูน

หลังขูดหินปูน

การขูดหินปูน (Dental Scaling)

        คือ การกำจัดหินปูนที่เกาะอยู่บริเวณฟันและซอกฟัน เหนือเหงือกและใต้เหงือก ด้วยอุปกรณ์ เครื่องขูดหินปูนคลื่นความถี่สูง และหรือเครื่องมือทางทันตกรรม เพื่อทำการกำจัดคราบหินปูนสะสม ลดการอักเสบของเหงือก ป้องกันการเกิดโรคเหงือกอักเสบและปริทันต์ได้

        ในคนที่ขาดการรักษาและติดตามไปเป็นระยะเวลานาน อาจจะเป็นสาเหตุจากกลัวการทำฟัน กลัวเจ็บ กลัวเสียวฟันระหว่างทำ ทำให้ไม่กล้าที่จะมาพบทันตแพทย์ การขูดด้วยเครื่องในปัจจุบันสามารถลดปรับระดับความแรงได้ อีกทั้งใช้การสั่นสะเทือนในการกำจัดหินปูนออก เพราะฉะนั้นสามารถแจ้งทันตแพทย์เพื่อปรับระดับเครื่องได้ตลอดการรักษา แนะนำว่าควรมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันและขูดหินปูนทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะดีกว่าเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวและป้องกันการลุกลามและรุนแรงของโรคได้

ข้อควรรู้และปฏิบัติหลังการขูดหินปูน

  • แปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ควบคู่กับการใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
  • ในคนที่เหงือกอักเสบมาก หลังขูดอาจจะมีเลือดออกตามขอบเหงือกได้ ซึ่งสามารถหยุดได้เองภายใน 30 นาทีโดยการจับตัวเป็นก้อนเลือดเล็กๆตามขอบเหงือกและจะหลุดไปเอง (ในกรณีที่คนไข้ไม่ได้มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด) แต่หากมีการไหลของเลือดไม่หยุด ผิดปกติ ควรรีบกลับมาพบทันตแพทย์
  • อาจจะมีอาการเสียวฟันได้หลังขูดหินปูน อาการจะค่อยๆดีขึ้น สามารถใช้ยาสีฟันที่ช่วยลดการเสียวฟันร่วมด้วยได้
  • อาการเจ็บที่เหงือก หรือปวด อาจจะเกิดขึ้นได้ในคนไข้ที่มีหินปูนสะสมเยอะมาเป็นเวลานาน หรือมีการสะสมของหินปูนอยู่ใต้เหงือก สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้
  • มาตามนัดทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อกำจัดและป้องกันการลุกลามของเหงือกอักเสบรวมถึง สามารถตรวจสุขภาพช่องปากด้านอื่นๆเพื่อการป้องกันและรักษาได้ทันท่วงที

ขูดหินปูนกับประกันสังคม

       ผู้ที่มีสิทธิเบิกประกันสังคมค่ารักษาทางทันตกรรมได้ คือ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39  สามารถเบิกค่ารักษาทางทันตกรรม ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุดได้ 900 บาทต่อปี โดยไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงนำบัตรประชาชนตัวจริงมายื่นที่คลินิก

Scroll to Top